ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๗) ได้ให้นิยามความหมายเกี่ยวกับเอกสารไว้ว่า
“เอกสาร หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
พยานเอกสารมีลักษณะเฉพาะตัว คือ มีความเที่ยงตรงแน่นอนในตัวเอง ไม่เหมือนพยานบุคคลที่อาจจะพลิกไป พลิกมา ขึ้นอยู่กับความเป็นกลาง ความรู้สึกนึกคิดของพยานและปัจจัยอื่นๆ แต่พยานเอกสารนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ปรากฏรูปรอย ลักษณะอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น พยานเอกสารจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยการกระทำของคนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ข้อความในเอกสารนั้นอาจจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จหรือเป็นการทำขึ้นตรงข้ามกับความเป็นจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ทำเอกสารคือพยานบุคคลนั่นเอง
เมื่อเอกสารจะมีขึ้นมาได้ก็โดยการจัดทำของบุคคล ดังนั้น การสืบพยานก็ต้องมีการนำพยาบุคคลมาสืบยืนยันความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร หรือพยานบุคคลเบิกความถึงข้อเท็จจริงใด ข้อเท็จจริงหนึ่ง แล้วมีการอ้างส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารด้วย กรณีที่เกี่ยวกับพยานเอกสารนี้ เรามุ่งถามเพื่อให้ทราบรายละเอียด ความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร เนื่องจากตัวพยานเอกสารเป็นสิ่งไม่มีชีวิตจิตใจ พูดตอบคำถามไม่ได้ จึงต้องมีการถามพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้อง
จุดที่เราจะถามพยานเกี่ยวกับพยานเอกสารก็ขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเอกสารนั้นๆว่า ต้องการทราบจุดไหน ประเด็นใด ดังนั้น การถามพยานบุคคลเกี่ยวกับพยานเอกสารจึงอาจจะถามสิ่งต่อไปนี้
๑. ความเป็นมาของพยานเอกสาร มีมูลเหตุใดจึงต้องจัดทำขึ้น
๒. ใครเป็นผู้จัดทำ ทำขึ้นถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ทำที่ไหน เมื่อไร ใครเขียน ใครลงลายมือชื่อเป็นพยาน
๓. ข้อความในเอกสาร ความหมาย การแปลความ
๔. ที่มาของเอกสาร ความน่าเชื่อถือ เป็นเอกสารลับ ปกปิดหรือเปิดเผย
๕. การเกี่ยวข้องของพยานบุคคลผู้เบิกความถึงเอกสารดังกล่าว พยานเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เป็นผู้จัดทำเอกสาร หรือลงลายมือชื่อในเอกสารโดยไม่รู้ว่าเป็นเอกสารอะไร
ผู้เรียบเรียง: นายภราดร โรจนเดชานนท์
ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง, ศิลปการถามความ, ๒๕๖๑
ภาพประกอบ: th.depositphotos.com