ทนายความนั้นเป็นบุคคลที่สำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม สามารถส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง บทบาทและงานในหน้าที่ของทนายความ นั้นจะมีตั้งแต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาหรือกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น การให้คำปรึกษาแก่ตัวความ การเตรียม การฟ้องร้องหรือต่อสู้คดี โดยทนายความจะมีขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ดังนี้
(๑) ขั้นก่อนการพิจารณาคดี ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการเตรียมคดี โดยเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเตรียมการ ในการฟ้องร้องคดีหรือต่อสู้คดี เช่น การเตรียมการด้านพยานหลักฐาน การจัดทำเอกสารต่างๆ
(๒) ข้้นพิจารณาคดี เป็นขั้นตอนการนำสืบพยานหลักฐาน นำพยานหลักฐานเสนอต่อศาลเพื่อการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินคดีต่อไป
(๓) ขั้นหลังการพิจารณาคดี ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนหลังจากมีการตัดสินคดีแล้ว หลังจากนั้นทนายความก็อาจมีหน้าที่ ในการยื่นอุทธรณ์ ฎีกา การบังคับคดีต่อไป
ในขั้นพิจารณาคดีนั้น เป็นขั้นตอนที่ทนายความจะต้องทำหน้าที่ นำเสนอพยานหลักฐานเข้าสืบต่อสู้หักล้างเพื่อผลแพ้ชนะทางคดี โดยใช้วิธี “การถามความ”
ความรู้ที่เกี่ยวกับการถามความ ได้แก่ กฎหมาย วิชาข้อเท็จจริง จิตวิทยา วาทศิลป์และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวกับ คดีนั้นๆ
ในคดีอาญา โจทก์จะต้องนำสืบให้ปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่ในคดีแพ่ง ศาลต้องดูพยานหลักฐานของทุกฝ่ายและพิจารณาว่าพยานหลักฐานทั้งหมดนั้น เจือสมหนักไปข้างใด แม้ว่าไม่ถึงปราศจากข้อสงสัย ศาลก็ยังชี้ขาดให้ฝ่ายนั้นชนะคดีได้
เมื่อลักษณะการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งและคดีอาญาแตกต่างกันเช่นนี้ ก็ย่อมจะมีผลต่อการถามความ เป้าหมายหรือความเน้นหนักในการถามความและการนำสืบพยานหลักฐานจะไม่เหมือนกัน
หากเป็นโจทก์ในคดีอาญาก็ต้องถามความหรือนำสืบพยานหลักฐานให้มีน้ำหนักมั่นคงแน่นแฟ้น หากเป็นจำเลยก็ต้องพยายามถามความให้เกิดความแตกต่าง พยานหลักฐานเป็นที่สงสัย ตีพยานโจทก์ให้แตก ทำให้มีน้ำหนักความน่าเชื่อ ถือน้อยลง เพราะเพียงพยานหลักฐานโจทก์เป็นที่สงสัยก็ยกฟ้องแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลย
ส่วนคดีแพ่งเป้าหมายในการถามความ จำเป็นต้องพิสูจน์ให้พยานหลักฐานฝ่ายตนมีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายตรงข้าม เพราะ ฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่าก็จะเป็นฝ่ายขนะคดีไป
ผู้เรียบเรียง ภราดร โรจนเดชานนท์
ด.ร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง, ศิลปการถามความ, ๒๕๖๑
ภาพประกอบ shutterstock